มารู้จักกายภาพบำบัด
กายภาพบำบัด เป็นวิชาชีพด้านสุขภาพ ทำงานร่วมกับบุคลากรด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด หมายความว่า การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย และการบำบัดความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การแก้ไขและการฟื้นฟูความเสื่อมสภาพ ความพิการของร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด หรือการอุปกรณ์ เครื่องมือที่รัฐมนตรีประกาศเป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เป้าหมายของการบริการกายภาพบำบัดคือ ทำให้การทำให้ผู้รับบริการสามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ผู้รับบริการกายภาพบำบัดอาจถูกส่งมาปรึกษาจากแพทย์ทุกสาขา หรือมาปรึกษานักกายภาพบำบัดโดยตรง นอกจากนั้น นักกายภาพบำบัดยังเข้าไปในชุมชนหรือสถานที่ทำงานเพื่อให้บริการแก่ผู้รับบริการโดยตรงด้วย นักกายภาพบำบัด คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตทางกายภาพบำบัด หลักสูตร ๔ ปี และได้รับการขึ้นทะเบียนการประกอบโรคศิลปะ สาขากายภาพบำบัด หลักสูตรการเรียนวิชาชีพกายภาพบำบัดจะเน้นการเรียนรู้การทำงานระบบร่างกายของมนุษย์ ทั้งในภาวะปกติ และผิดปกติ และวิธีแก้ไขและคงสภาพของภาวะร่างกาย
งานของนักกายภาพบำบัดคือ
- ประเมินประวัติทางการแพทย์
- ทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ กระดูก ระบบประสาท ระบบการหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด ตามปัญหาของผู้รับบริการ
- วินิจฉัยทางกายภาพบำบัด
- ให้การรักษาปัญหาต่างๆของร่างกายด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด
- ส่งผู้ป่วยกลับไปปรึกษาแพทย์ ในกรณีภาวะโรคนั้นไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด
- ให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาแทรกซ้อน • ประเมินความสามารถและแก้ไขเพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยในการกลับไปใช้ชีวิตหรือทำงานได้เหมือนเดิม
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและท่าทางในการทำงานและในชีวิตประจำวัน
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มสมรรถภาพกายของทั้งในผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป นักกายภาพบำบัดจึงให้บริการประชาชนทุกเพศ วัย และสถานะ ทั้งในโรงพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด โรงเรียน สำนักงาน โรงงาน สนามกีฬา ศูนย์สุขภาพ ชุมนุมชน หรือที่บ้าน
การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วย
- รักษาด้วยความร้อน ความเย็น คลื่นไฟฟ้า คลื่นแสง และคลื่นแม่เหล็กชนิดต่างๆ โดยนักกายภาพบำบัดต้องทำการวิเคราะห์ว่า กรณีผู้ป่วยใดจะต้องการการรักษาประเภทใด มากน้อยหรือยาวนานเท่าใด
- รักษาด้วยมือ โดยวิธีการนวด ดัด ดึง ด้วยเทคนิคเฉพาะซึ่งปรับตามส่วนของร่างกายที่รักษา สาเหตุของความผิดปกติ และอาการของผู้ป่วย
- รักษาด้วยการบริหารร่างกาย โดยนักกายภาพบำบัดต้องทำการวิเคราะห์ว่าอาการที่ผู้ป่วยเป็นนั้น มีสาเหตุการความบกพร่องของกระดูก กล้ามเนื้อ หรือ ระบบประสาทส่วนใด และออกแบบท่า ความหนัก และความบ่อยของการบริหารกายให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน
- การแนะนำท่าทางที่เหมาะสม ในการทำงานและในชีวิตประจำวัน
- เลือกชนิดและสอนการใช้เครื่องช่วย เช่น ไม้เท้า 3 ขา , walker เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหว และทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ด้วยตนเอง
ภาวะโรคที่สามารถรับการรักษาทางกายภาพบำบัด
- โรคระบบกระดูกกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น ผู้ป่วยกระดูกหัก ข้อต่อติด บาดเจ็บกล้ามเนื้อและเอ็นจากเล่นกีฬาหรือการใช้งานผิดท่า ท่าทางในการทำงานและชีวิตประจำวันที่ผิด ข้อเสื่อม โดยมักจะเป็นผู้ป่วยที่มาพบด้วยอาการปวด ชา อ่อนแรง หรือเคลื่อนไหวส่วนต่างๆไม่ได้ เหมือนปกติ
- โรคระบบประสาท จากโรคหรืออุบัติเหตุของ สมอง ไขสันหลัง หรือเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการ อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตครึ่งท่อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา
- โรคระบบหัวใจและระบบหายใจ ผู้ป่วยมีประสิทธิภาพการหายใจลดลง จากโรคหรือการผ่าตัดปอดหลอดลมหรือหัวใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพในภาวะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ
- โรคทางเด็ก ผู้ป่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางสมองและเด็กที่มีปัญหาของพัฒนาการ ซึ่งจะต้องการการกระตุ้นให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง
- ผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสื่อมของระบบต่างๆของร่างกาย จึงต้องการวิธีการรักษาเฉพาะเพื่อชะลอความเสื่อม และคงสมรรถภาพกาย
- หญิงมีครรภ์ และโรคทางสตรีอื่นๆ ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอดและหลังคลอด ซึ่งร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนอาจมีอาการของระบบกระดูกกล้ามเนื้อ การหายใจและอื่นๆได้
- โรคอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่ถูกไฟลวก ผู้ป่วยโรคเรื้อน ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านม ซึ่งจะมีปัญหาเฉพาะที่ต้องการวิธีการรักษาที่ต่างกันไป
งานกายภาพบำบัดนอกโรงพยาบาล
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสมกับเพศ วัย อายุ และพื้นฐานร่างกาย ในศูนย์สุขภาพ สปา และสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ
- การวิเคราะห์ความเหมาะสมของท่าทาง สถานที่ และวิธีการทำงาน และให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาของร่างกายจากความไม่เหมาะสม ของภาวะงาน ทั้งในสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม และสถานที่ทำงานอื่นๆ
- ดูแลนักกีฬาหลังการบาดเจ็บ ตั้งแต่ในสนามกีฬา และฟื้นฟูสภาพนักกีฬาหลังบาดเจ็บเพื่อให้สามารถกลับไปฝึกซ้อมและแข่งขันได้อย่างเร็วที่สุด
- ให้บริการการรักษาทางกายภาพบำบัดในคลินิกเฉพาะกายภาพบำบัด ซึ่งมีเพิ่มขึ้นมากตามความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน • ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังอื่นๆในสถานพักฟื้น ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ และชุมชนบ้านพักพิเศษ เช่นบ้านพักคนชรา ศูนย์ฟื้นฟูคนงานที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน สถานพักฟื้นทั้งของรัฐและเอกชน
- ให้การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลหรือศูนย์ฟื้นฟู โดยไปทำการรักษาที่บ้านผู้ป่วย รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด
- สำรวจและดูแลการพัฒนาการของเด็ก ทั้งในศูนย์ดูแลเด็กอ่อน เด็กเล็ก และในโรงเรียน ทั้งโรงเรียนปกติ และโรงเรียนพิเศษ
ที่มา www.ptms.mahidol.ac.th
สิงหาคม 21, 2009 ที่ 5:56 am |
[…] มารู้จักกายภาพบำบัด […]